วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย


พัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย
                การเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัยเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยมีแบบแผนที่แตกต่างกันออกไปจากพัฒนาการด้านอื่นๆ Torrance ได้สรุปพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์เด็กทารก ก่อนวัยเรียน (อายุ 0-6 ปี) ว่าเด็กมีความสามารถพัฒนาจินตนาการได้ตั้งแต่ขวบปีแรก ด้วยการเรียนรู้จากสิ่งเร้ารอบตัว เช่น เสียง จังหวะ เมื่ออายุ 2 ขวบ ความกระตือรือร้นที่จะใช้ประสาทสัมผัสเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ ช่วงอายุ 2-4 ปี เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากประสบการณ์ตรง และประสาทสัมผัสที่พร้อมสำหรับสิ่งแปลกใหม่ตามธรรมชาติ เริ่มมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง มักทำในสิ่งที่เกินความสามารถของตนเอง ชอบจินตนาการ จวบจนอายุช่วง 4-6 ปี เด็กเริ่มสนุกสนานกับการวางแผน การเล่นและสามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ แม้จะไม่เข้าใจในเหตุผลมากนัก เด็กชอบทดลองเล่นบทบาทสมมติต่างๆ โดยใช้จินตนาการของเด็กเอง


ความคิดสร้างสรรค์เป็นลักษณะของความคิดส่วนบุคคลที่สามารถคิดได้อย่างหลากหลายและคิดได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่กำหนดขึ้น ลักษณะของบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์เราสามรถสังเกตได้จากพฤติกรรมการแสดงออก สามารถสรุปได้ดังนี้



1.            มีความกระหายใคร่รู้อยู่เป็นนิจ กระตุ้นความคิดด้วยความอยากรู้อยากเห็น

2.            ชอบสืบเสาะแสวงหา สำรวจ ศึกษา ค้นคว้าและทดลอง

3.            ชอบซักถาม พูดคุยและตั้งคำถามที่แปลกๆ

4.            ช่างสงสัยและแปลกประหลาดใจในสิ่งที่พบเห็นอยู่เสมอ

5.            ช่างสังเกต จดจำ และค้นพบสิ่งที่ขาดหายไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

6.            ชอบแสดงออกมากกว่าเก็บกด ถ้าเกิดข้อสงสัยจะต้องรีบหาคำตอบโดยไม่ต้อรีรอ

7.            มีอารมณ์ขันเสมอ สร้างความสุขในโลกส่วนตัวด้วยมุมมองที่แปลก

8.            มีสมาธิในสิ่งที่ตนสนใจ

9.            พึงพอใจและสนุกสนานกับการใช้ความคิด

10.    สนใจสิ่งต่างๆ อย่างกว้างขวาง

11.    มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เปิดกว้างทางความคิดเพื่อพิจารณา

12.    มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความเชื่อมั่นทางความคิดและการกระทำ

13.    มีความสามารถทางด้านการจินตนาการชอบคิดหาวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้แก้ปัญหา

               เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์จะมีการแสดงออกทางพฤติกรรม ซึ่งเราสามารถสังเกตและส่งเสริมให้เด็กได้มีพัฒนาการทางความคิดให้เป็นบุคคลที่สร้างสรรค์สังคมและตนเองได้เป็นอย่างดี การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์จะเป็นที่จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนโดยเน้นกระบวนการ เทคนิควิธีเป็นสำคัญ มากกว่าการเรียนรู้ที่ตัวเนื้อหาสาระ เมื่อความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งดีที่แฝงเร้นภายในตัวตนของบุคคล การส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่เยาว์วัยจึงสามารถที่จะกระทำได้ โดยอาศัยเทคนิควิธีการต่างๆ อย่างหลากหลาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น